เกี่ยวกับโครงการ



โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81  สายบางใหญ่-กาญจนบุรี  มีระยะทางรวมประมาณ 96 กิโลเมตร โดยมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอนนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ด้านตะวันตก อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี และจุดสิ้นสุดอยู่บริเวณทางหลวงหมายเลข 324 (ถ.กาญจนบุรี อ.พนมทวน) จ.กาญจนบุรี  โดยมีงานระบบและองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง จำนวน 8 แห่ง ศูนย์ควบคุมกลาง ศูนย์ควบคุมด่าน ด่านชั่งน้ำหนัก ศูนย์ดำเนินงานและบำรุงรักษา หน่วยตรวจการและกู้ภัย สถานที่บริการทางหลวง กองกำกับและสถานีตำรวจทางหลวง จุดพักรถ งานโยธา และสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการสําคัญตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 อนุมัติให้กระทรวงคมนาคมดำเนินงานโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่- กาญจนบุรี ในส่วนของการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) ในรูปแบบ PPP Gross Cost ซึ่งเอกชนเป็นผู้ออกแบบและลงทุนค่าก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง  โดยคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ได้พิจารณาให้กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกในการดำเนินโครงการ

กรมทางหลวงได้ว่าจ้าง บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท เอ็มเอเอ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด  เป็นที่ปรึกษาเพื่อควบคุมงานออกแบบและก่อสร้างเพื่อให้โครงการดำเนินงานไปอย่างสมบูรณ์ทางด้านวิศวกรรม สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะช่วยเติมเต็มโครงข่ายคมนาคมขนส่ง สร้างความสะดวก รวดเร็ว ทันสมัย ปลอดภัยให้กับประชาชนในการเดินทางสู่ภูมิภาคต่าง ๆ เสริมประสิทธิภาพการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย

 

 แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างด่านเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางพร้อมติดตั้งงานระบบ และองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาดำเนินการ  3 ปี เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2565

ระยะที่ 2 การดำเนินงานบริหารจัดเก็บค่ารรมเนียมผ่านทางและบำรุงรักษาถนนและงานระบบทั้งหมด  ระยะเวลา 30 ปี จะเริ่มดำเนินการหลังเปิดให้ประชาชนใช้บริการ

 

1. เพื่อพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทางถนนของประเทศไทยให้มีความทันสมัยมีประสิทธิภาพได้มาตรฐานระดับสากล

2. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ และเป็นเส้นทางเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมสู่ภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศ

3. เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคของประเทศโดยรวม

4. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความสะดวก รวดเร็ว ทันสมัย ปลอดภัยให้กับประชาชนในการเดินทางสู่ภูมิภาคต่าง ๆ 

 


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้